วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

"มาตรวจภายใน" กันเถอะ

 
     

      
          สวัสดีค่ะชาวบล็อกทั้งหลาย ห่างหายการอัพเดทไปเป็นแรมเดือน คิดถึงกันบ้างมั้ยเอ่ย?? 555 แต่การหายตัวไปคราวนี้นะ ไม่เสียเปล่าอย่างแน่นอน วันนี้เลยมีเรื่องดี เรื่องเด็ดมาฝากเหล่าชาวบล็อกกันเช่นเคย                     
         
          เหลียวซ้าย แลขวา แล้วกลับขึ้นไปมองหัวข้อการสนทนาของเราในวันนี้ ที่ว่าด้วยเรื่อง “มาตรวจภายในกันเถอะ” (นิ่งไปสักพัก) ฮั่นแน่..กำลังคิดอะไรอยู่เอ่ย อย่าเพิ่งคิดไปไกล อย่าเพิ่งๆ ไม่ใช่แบบนั้นนะ (ฮา) จากหัวข้างต้นนี้ก็คือ ส่วนหนึ่งของชื่อหนังสือที่จะมาแนะนำให้ชาวบล็อกรู้จักกันในวันนี้

 





          นั่นก็คือหนังสือเรื่อง “ตรวจภายใน” ค่ะ หลายคนอาจจะรู้สึกแปลกใจและงุนงงสงสัยว่าผู้เขียนหนังสือบ้าไปแล้วหรือเปล่า ทำไมตั้งชื่อเรื่องพิกลแบบนี้ เพราะชื่อเรื่องอาจจะส่อในเรื่องสุขอนามัยของสุภาพสตรีไปซะหน่อย 555 แต่ขอยืนยัน นั่งยัน นอนยัน และตีลังกายัน(เริ่มจะเมื่อย) เลยนะคะว่าไม่เกี่ยวกันเลยสักนิดเดียว ถึงตอนนี้ชาวบล็อกอาจสงสัยอีกว่า เอ๋!! แล้วสรุปเนื้อหาหนังสือเล่มนี้มันเกี่ยวกับอะไรกันแน่ ถ้าไม่ตรวจภายในร่างกายคนแล้วตรวจอะไร คำเฉลยก็คือ สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ชวนคุณตรวจไปด้วยกันคือตรวจว่า “เรากำลังใช้ชีวิตแบบไหน” ต่างหากล่ะ                              


          หนังสือเล่มนี้แต่งโดย “คุณนิ้วกลม”  ขอแนะนำนักเขียนชื่อดังผู้นี้สักหน่อยละกัน(ชอบเป็นการส่วนตัว) จากการอ่านหนังสือของเขาคนนี้เล่มแล้วเล่มเล่า(ก็ประมาณ 4 เล่ม)  เขาคนนี้มีปลายปากกาที่ชวนให้น่าประทับใจเสมอ  
อย่างหนังสือที่นำมาแนะนำในวันนี้ก็ยังคงไม่ทำให้ผิดหวังเช่นเคย มันยอดเยี่ยมมาก จะเห็นได้จากหลายๆบทความของหนังสือเรื่อง “ตรวจภายใน” เล่มนี้นั้น ทั้งที่บางเรื่องเป็นเรื่องที่ยากในการที่จะเขียนเล่าออกมาให้สนุก แต่พอเรื่องเหล่านี้มาอยู่ในมือของเขา กลับ “เอาอยู่” มันสนุกอย่างน่าทึ่ง ไม่เชื่อก็ลองไปซื้อมาอ่านกันนะคะ(ขายของซะหน่อย) จะมีใครที่เขียนเรื่อง “น้ำปลาพริก พริกน้ำปลา หรือเล่าเรื่องกระแส “ชิมิชิมิ” อย่างชวนคิด หมดจด และกินใจได้เท่าเขาอีก (ไม่มี๊ ไม่มี!!!)         





                                                                                            
          ผลงานจากความช่างคิดนี้ ช่วยสะกิดปลุกผู้อ่านให้ “ตื่น” ขึ้นมาสำรวจ “ตรวจภายใน” ของกระแสการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของสังคมโลกยุคดิจิตอล (ซึ่งก็คือยุคปัจจุบันของเราๆนี่เองล่ะคะ) อย่างอาการหิว Like โหย Comment คลั่งสะสม Friend ทุ่มเทอัพ Status บ้าถ่ายรูป กระแสแพลงกิ้ง ชิมิชิมิ ไปจนถึงปรากฏการณ์ในสังคมอย่างการกระหายข่าวดารา การต่อแถวยาวซื้อโดนัท การแจกถุงผ้า การอยู่คอนโดฯ การดูผี รวมถึงเรื่องน่ารักๆ อันได้แก่      ชุดนักศึกษารัดติ้ว สาวแอ๊บแบ๊วบิ๊กอาย นมตู้ม และกิ๊ก!!!! (ฮา)    

          ในหนังสือเล่มนี้ มีเนื้อหาบางตอนที่ทำให้อดคิดถึงสังคมไทยในภาพรวมไม่ได้ อย่างเช่นบทความเรื่อง “คอนโดฯ คนเดียว” นิ้วกลมกล่าวถึง “ทักษะในการอยู่ร่วมกัน” ภายในบ้านที่หายไปในวิถีชีวิตแบบคอนโดฯ ซึ่งทักษะดังกล่าวน่าจะเป็นคำตอบหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ เพราะวิถีชีวิตแบบบ้านนั้นสอนวิธีการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่การอยู่คอนโดฯ คนเดียว “ไม่มีให้” ทางออกของปัญหานี้อาจเริ่มได้โดยการ “ถอนหูฟังของตนเองออกบ้าง ลองยืมหูฟังจากเครื่องของคนอื่นมายัดใส่หูของเรา แล้วลองฟังอย่างตั้งใจ” นั่นคือ “ออกจากโลกของฉันไปอยู่โลกของเธอดูบ้าง” ซึ่ง “จะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ไม่สำคัญ อย่างน้อยก็เข้าใจกันมากขึ้น”                                              

          หรือในบทความ “โลกอินเทอร์เน็ตกว้างหรือแคบ” ที่นิ้วกลมตั้งข้อสังเกตว่า โลกอินเทอร์เน็ตสำหรับบางคนนั้นแคบกว่าโลกความจริงเสียอีก หากเอาแต่อยู่ในพื้นที่เคยชินโดยเลือกอยู่กับคน “คล้ายๆกัน” จนไม่คุ้นเคยกับ                  ความแตกต่างหรือความหลากหลาย “ซึ่งน่าเสียดายแทนบางคนที่เลือกจะมีเพื่อนเพียงบางแบบเท่านั้น”  




                                                                                                                                                    

          หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนมาเพื่อ “ตรวจภายใน” สังคมไทย และ “ตรวจภายใน” จิตใจของตนเอง ซึ่งเมื่อได้อ่านแล้วทำให้เรามองเห็นมุมมองใหม่ และได้แง่คิดในการดำรงชีวิตมากขึ้น

               มีคำพูดหนึ่งที่ คาร์ล ยุง นักจิตวิทยาคนสำคัญได้กล่าวไว้ว่า            
               Who looks outside, dreams; who looks inside, awakes.                                                                
            หากอยากตื่น เราคงต้องตรวจสอบเข้าไป “ภายใน”
            ผู้เขียนบล็อกก็คิดว่า เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว การมองออกไป ข้างนอก” ก็สำคัญไม่แพ้กัน    
 

  

หมดเวลาแล้วสิ
หมดเวลาแล้วสิ
หมดเวลาแล้วสิ......
หวังว่าหนังสือที่เอามาฝากชาวบล็อกกันวันนี้คงจะน่าสนใจไม่น้อย
จนอดใจไม่ได้ที่จะลองอ่านมันสักครั้ง รับประกันเลยว่า "แจ่มว้าว" อย่างแน่นอน 
ตอนนี้ก็สมควรเวลาแห่งการนอนแล้วผู้เขียนบล็อกขอตัวไปซบหมอน นอนเสื่อ กอดหมอนข้างก่อนนะ
(ฝันดีค่ะชาวบล๊อกที่น่ารักทุกคน)            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น